ลืมรหัสผ่าน
 สมัครสมาชิก
ค้นหา

การดูแลเมื่อ สุนัขเป็นฮีท เมื่อน้องหมาเป็นสัด ควรดูแลอย่างไร?

[คัดลอกลิงก์]
เสื้อหมา เสื้อแมว รถเข็นหมา รถเข็นแมว

pittbull_medicine.jpg

เมื่อสุนัขของเราเริ่มแตกเนื้อสาว เหตุการณ์ที่ตามมาก็คือ การเป็นสัด การผสมพันธุ์ การตั้งท้อง และการมีลูก ซึ่งนั่นอาจเป็นเรื่องที่น่ายินดีสำหรับสุนัขพันธุ์แท้ที่มีราคา เพราะหมายถึงรายได้จากการขายลูกสุนัข แต่สำหรับสุนัขพันธุ์ทางหรือที่เจ้าของไม่อยากให้มีลูกแล้วละก็ การพลาดปล่อยให้สุนัขตั้งท้องและมีลูกขึ้นมา คงเป็นเรื่องที่น่าปวดศีรษะแน่ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสุนัขจรจัด ซึ่งจะเป็นผลพวงที่ทำให้ประชากรสุนัขที่ไม่มีคนดูแลในสังคมมีมากขึ้น
การเป็นสัด (Estrous หรือ in heat) คือ ช่วงเวลาที่สัตว์เพศเมียจะยอมรับการผสมพันธุ์จากตัวผู้ มีการตกไข่ โดยเหตุการณ์เหล่านี้อยู่ภายใต้อิทธิพลของฮอร์โมนหลายชนิด สุนัขจะมีการเปลี่ยนแปลงทางร่างกายที่เห็นได้ชัดคือ อวัยวะเพศบวมแดง มีของเหลวสีแดงไหลจากช่องคลอด ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับเลือดประจำเดือนในคน การเป็นสัดครั้งแรกจะเริ่มเมื่อสุนัขมีอายุประมาณ 6-12 เดือน แล้วแต่สายสุนัขพันธุ์


dog_7.jpg



วงจรการเป็นสัด (Estrous cycle) ในสุนัขเพศเมีย สามารถแบ่งได้เป็น 4 ระยะ คือ


1. ระยะก่อนเป็นสัด (Pro estrus) กินเวลาประมาณ 7-14 วัน ระยะนี้อวัยวะเพศจะเริ่มขยายใหญ่ขึ้นอย่างชัดเจน มักจะเห็นเลือดหรือเมือกสีแดงสดไหลออกมาจากอวัยวะเพศ คล้ายเลือดประจำเดือนในคน หลายคนจึงเรียก (อย่างไม่ถูกต้องนัก) ว่าสุนัขมีประจำเดือน (ที่ถูกต้องน่าจะเรียกว่า ประจำ "หลาย"เดือน มากกว่า เพราะเลือดนี้จะมาทุก 6-10 เดือน ไม่ทุกเดือนเหมือนในคน)

ช่วงนี้ สุนัขมักจะก้มไปเลียอวัยวะเพศตัวเอง เพราะรู้สึกถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น จะกินน้ำและถ่ายปัสสาวะบ่อยขึ้น แต่ปริมาณปัสสาวะในแต่ละครั้งจะไม่มากนัก และมีการปล่อยสารฟีโรโมนออกมาด้วย ดังนั้นสุนัขที่เป็นสัดนี้ จากที่เคยถูกมองจากตัวผู้ว่าเป็นสุนัขไม่สวย ก็จะกลายเป็น "สาวเนื้อหอม" ขึ้นมาทันที มีสุนัขตัวผู้เข้ามาห้อมล้อมติดพัน ซึ่งจะพบได้ว่า บ้านไหนมีลูกสาวที่กำลังเป็นสัดอยู่ จะมีสุนัขหนุ่มๆ มาป้วนเปี้ยน เห่าหอน และชุมนุมกันหน้ารั้วบ้านเต็มไปหมด เรียกได้ว่า "หัวบันไดไม่แห้ง" กันเลยทีเดียว แต่ระยะนี้ สุนัขเพศเมียจะมีอาการรักนวลสงวนตัวอยู่ ยัง "ไม่ยอม"ให้ตัวผู้ผสมแน่นอน

2. ระยะเป็นสัด (Estrus) ระยะนี้กินเวลาประมาณ 7-10 วัน จะพบว่าสีของของเหลวจากอวัยะเพศจะจางลง กลายเป็นสีแดงจางหรือใสๆ สุนัขเพศเมียจะเริ่มสนใจสุนัขเพศผู้มากขึ้น เรียกได้ความเป็นกุลสตรีสุนัขหายไป เริ่มมีการ "อ่อย" เกิดขึ้น เช่นเอาขาไปสะกิด เอาบั้นท้ายไปเบียดตัวผู้ ยืนนิ่งเบี่ยงหางไปด้านตรงข้ามเพื่อเปิดทางเวลาตัวผู้มาดมบริเวณก้น ในกรณีที่บ้านไหนไม่มีสุนัขตัวผู้ เราก็สามารถตรวจสอบว่าถึงระยะนี้หรือยังได้ โดยการใช้นิ้วเคาะที่บริเวณด้านข้างของก้นและอวัยวะเพศ สุนัขจะหันบั้นท้ายไปด้านตรงข้ามที่เราเคาะ หรือเมื่อลองใช้มือกดและแตะที่บริเวณหลังหรือเอวสุนัขแล้ว เขาจะยืนนิ่งยกหาง เพื่อยอมรับการผสม

ช่วงนี้นับเป็นช่วง "สัปดาห์ทอง" สำหรับผู้ที่ต้องการเพาะพันธุ์สุนัข แต่จะเป็น "สัปดาห์วิกฤต" ที่อันตรายสุดๆ ในกรณีที่ไม่อยากให้มีลูก เพราะถ้าพลาดปล่อยให้เจ้าสาวน้อยหลุดไปหาหนุ่มๆ เข้าละก็ เป็นเรื่องแน่!! เนื่องจากสุนัขเป็นสัตว์ที่ผสมพันธุ์ตามฤดูกาล (Seasonal breeder) ไม่เหมือนคนที่ทำตามอารมณ์ (Emotional breeder) จึงไม่สามารถควบคุมอารมณ์ได้เหมือนในคน (จริงหรือ?) ดังนั้นหากเราไม่ต้องการให้สุนัขของเราตั้งท้อง ในช่วงระยะเป็นสัดนี้ควรกักบริเวณสุนัขครับ แต่ถ้าอยากให้มีลูกละก็ ช่วงนี้ล่ะเหมาะสุด เพราะสุนัขจะยอมรับการผสม และเป็นช่วงที่ไข่ตก จึงมีโอกาสตั้งท้องสูงมาก

3. ระยะหลังเป็นสัด (Diestrus) ระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 2 เดือน อวัยวะเพศจะลดขนาดลงจนเท่าขนาดปกติ ไม่พบของเหลวจากอวัยวะเพศ เรียกได้ว่าเป็นช่วง "หมดโปรโมชั่น" เลยทีเดียว เพราะสุนัขเพศเมียจะไม่เป็นที่สนใจของสุนัขตัวผู้อีกต่อไป ถ้ามีการผสมพันธุ์ในระยะที่แล้ว (ระยะเป็นสัด) สุนัขจะตั้งท้อง และจะคลอดลูกในปลายระยะนี้ แต่ก็อาจพบภาวะการท้องเทียม ได้ (การท้องเทียม pseudo pregnancy เป็นการที่สุนัขแสดงอาการเหมือนตั้งท้องทุกประการ เนื่องจากฮอร์โมนที่เปลี่ยนแปลงไป แต่ไม่มีตัวอ่อนในมดลูก)

4. ระยะพัก (Anestrus) ระยะนี้จะกินเวลาประมาณ 3 - 5 เดือน เป็นระยะที่รังไข่พักกิจกรรม หรือเป็นระยะที่มดลูกเข้าอู่ (ในสุนัขที่ท้องและเพิ่งคลอดลูก) โดยเมื่อสิ้นสุดระยะนี้แล้ว จะเข้าสู่วงรอบการเป็นสัดครั้งต่อไป

สรุปแล้ว ใน 1 รอบการเป็นสัดจะใช้เวลาประมาณ 6-10 เดือน นั่นหมายความว่า สุนัขอาจเป็นสัดหรือมีฮีท ปีละ 1-2 ครั้ง ทั้งนี้ขึ้นกับสายพันธุ์ สุขภาพ และความสมบูรณ์พันธุ์ สุนัขพันธุ์เล็กจะมีฮีท บ่อยกว่าในสุนัขโต ดังนั้นถ้าอยากให้สุนัขมีลูก หรือมีสุนัขพ่อพันธุ์อยู่ที่บ้านเอง คงไม่มีปัญหาในการนับวันผสม แต่ถ้าต้องไปเสียเงินเพื่อจ้างผสมพันธุ์แล้วละก็ ผู้เลี้ยงควรนับวัน สังเกตุอาการสุนัข และสีของของเหลวที่ไหลออกมาให้ดี จะได้ไม่พลาดโอกาสทอง ในการได้ลูกสุนัขไป แต่ถ้าท่านใดไม่อยากให้สุนัขมีลูกละก็ คอยติดตามในสัปดาห์หน้านะครับ เพราะเราจะคุยกันถึงเรื่อง การป้องกันไม่ให้มีลูก หรือการคุมกำเนิดกันครับ

ขอบคุณข้อมูลดีดีจาก

หมอโอห์ม
อาจารย์ นายสัตวแพทย์ดร.ทิลดิสร์ รุ่งเรืองกิจไกร
คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ
www.dogthailand.net
loading...
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

รายละเอียดเครดิต


โทรศัพท์มือถือ|รายชื่อผู้ถูกระงับบัญชี|dogthailand.net

แนะนำที่พัก โรงแรม รีสอร์ท สัตว์เลี้ยงเข้าพักได้ ทั่วประเทศ

GMT+7, 2024-12-10 15:30 , Processed in 0.078635 second(s), 21 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.8

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้