ลืมรหัสผ่าน
 สมัครสมาชิก
ค้นหา

โรคตับ เมื่อน้องหมาป่วยเป็นโรคตับ มารู้จักโรค วิธีดูแล อาหาร กันแบบละเอียด

[คัดลอกลิงก์]
เสื้อหมา เสื้อแมว รถเข็นหมา รถเข็นแมว

โรคตับคืออะไร

ea8cc68fb526243db5a82fdd52edf65c.jpg
ตับเป็นอวัยวะสำคัญ ซึ่งมีหน้าที่หลากหลาย เช่น ย่อยและเปลี่ยนแปลงสารอาหาร กำจัดของเสียจากเลือด และยังเป็นอวัยวะที่เก็บสะสมวิตามินและแร่ธาตุต่าง ๆ ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานของร่างกาย นอกจากนี้ยังมีส่วนเกี่ยวข้องในเรื่องภูมิคุ้มกันของร่างกายและการแข็งตัว ของเลือดอีกด้วย
ซึ่งความผิดปกติของตับส่วนมากเกิดจากการอักเสบ หากไม่ได้รับการรักษาจะทำให้ตับสูญเสียการทำงานไป นอกจากนั้นโรคต่าง ๆ ยังมีผลกระทบต่อการทำงานของตับอีกด้วย ตับเป็นอวัยวะที่สามารถซ่อมแซมตัวเองได้อย่างน่ามหัศจรรย์ ดังนั้นปัญหาที่เกิดจากโรคตับจึงเป็นสิ่งที่สามารถแก้ไขได้ หากได้รับการรักษา และการจัดการที่ถูกต้องเหมาะสม
   


โรคตับที่พบกันได้บ่อยๆ ในสัตว์เลี้ยงมีดังนี้

Hepatic Lipidosis คือภาวะที่มีการสะสมของไขมันในตับมากจนเกินไป จนทำให้ตับทำงานได้ลดลง เป็นโรคตับที่พบได้บ่อยที่สุดในแมว ซึ่งสาเหตุอาจเกิดจากการได้รับโปรตีนไม่เพียงพอกับความต้องการของร่าง กาย หรือเกิดตามมาจากโรคต่างๆ เช่น เบาหวาน โรคหัวใจ เนื้องอก ตับอ่อนอักเสบ ไตวาย เป็นต้น ซึ่งสัตว์เลี้ยงที่มีน้ำหนักตัวเกินจะมีความเสี่ยงมากในการเป็นโรคตับชนิดนี้
Hepatic Encephalopathy เป็นความผิดปกติของสมองที่เกิดเนื่องจากมีการสะสมของของเสียในเลือดมากจน ผ่านเข้าสู่สมอง ซึ่งตามปกติแล้วของเสียและสารพิษจะถูกทำลายที่ตับ แต่เมื่อมีความผิดปกติเกิดขึ้น ทำให้เลือดไหลเข้าสู่ตับได้ลดลง สารพิษเหล่านี้ก็จะสะสมจนทำให้สัตว์เลี้ยงแสดงอาการทางประสาท เช่น ชัก เดินโซเซ ผิดปกติเรื่องการมองเห็น
Copper storage hepatopathy อาจเป็นโรคทางพันธุกรรมของสุนัข พบมากในสุนัขพันธุ์ Bedlington Terrier, West Highland White Terrier, Doberman Pinscher, Dalmatian, Labrador Retriever โดยพบว่าตับมีความผิดปกติในการเมแทบบอลึซึมธาตุทองแดง ทำให้ตับสะสมธาตุทองแดงมากเกินไป จนเกิดตับอักเสบ และตับแข็งได้ นอกจากนี้สุนัขที่ได้รับอาหารที่มีธาตุทองแดงมากเกินไปหรืออยู่ในภาวะเครียด ก็อาจจะทำให้สุนัขแสดงอาการของโรคอย่างเฉียบพลันได้

    e0c20fccb47118f8970e47ed5da5e677.jpg


ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อโอกาสการเกิดโรคตับในสัตว์เลี้ยง

โรคตับสามารถเกิดได้จากหลายสาเหตุ และมีปัจจัยต่าง ๆ ที่เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ ได้แก่
อายุ - ความผิดปกติทางพันธุกรรม และความผิดปกติโดยกำเนิดมักจะแสดงอาการเมื่อสัตว์อายุน้อยๆ ในขณะที่เนื้องอกในตับพบได้บ่อยในสัตว์เลี้ยงที่มีอายุมากกว่า 10 ปีขึ้นไป
สายพันธุ์ - สุนัขบางสายพันธุ์ เช่น เบดลิงตัน เทอร์เรีย, ยอร์คไชร์ เทอร์เรีย, คอกเกอร์ สแปเนียล มักมีความเสี่ยงต่อการเกิดโรคตับ และมีโอกาสเกิดความผิดปกติของตับมาตั้งแต่กำเนิดมากกว่าสายพันธุ์อื่น ๆ
โรคอ้วน - สัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคอ้วนมักมีความเสี่ยงในการเกิดโรคตับ
ยาและสารเคมี - ยาบางชนิดมีผลต่อตับ และการได้รับสารเคมีรวมถึงการได้รับยาในปริมาณที่มาก และนาน จะทำให้เกิดความเสียหายของตับได้
df24ff691f87b91afde750915366341f.jpg
สังเกตอาการของสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคตับ

อาการของโรคตับมักจะคล้ายคลึงกับอาการของโรคอื่น ๆ ส่วนมากมักพบอาการเหล่านี้
เบื่ออาหาร
น้ำหนักลด
กระหายน้ำหรือดื่มน้ำเพิ่มขึ้น
อาเจียน หรือ ท้องเสีย
ซึมเศร้า (ในสุนัข)
น้ำลายไหล (ในแมว)
เนื่องจากอาการของโรคตับไม่ค่อยจำเพาะเจาะจง สัตวแพทย์อาจต้องตรวจเพิ่มเติมเพื่อการวินิจฉัยที่แม่นยำขึ้น โดยการตรวจเลือด ตรวจความเปลี่ยนแปลงของรูปร่างขนาดของตับ หรือเส้นเลือดที่มาเลี้ยงตับ โดยอัลตราซาวด์ หรือ การถ่ายภาพรังสีเอ็กซ์ และการตัดเนื้อเยื่อตับไปตรวจในห้องปฎิบัติการ
d7043b732470bb9a4611e63d66240232.jpg

การดูแลสัตว์เลี้ยงที่เป็นโรคตับ

สัตวแพทย์อาจแนะนำให้สัตว์เลี้ยงกินอาหารเฉพาะสำหรับรักษาโรคตับ ให้ยา หรือในบางกรณีอาจต้องผ่าตัด ทั้งนี้ขึ้นกับลักษณะ และความรุนแรงของโรคตับมีความสามารถที่จะซ่อมแซมความเสียหาย และเสริมสร้างเซลล์ใหม่ได้อย่างดีด้วยตัวเอง หากมีการกำจัดสาเหตุของโรคออกไป โภชนาการที่เหมาะสมมีบทบาทสำคัญในการให้สารอาหารที่ตับต้องการเพื่อนำไปใช้เสริมสร้างเนื้อเยื่อใหม่ และช่วยในการฟื้นตัวของสัตว์ป่วย

ข้อควรจำ โรคตับเป็นโรคที่สรุปจากการสังเกตอาการเพียงอย่างเดียวได้ยาก ดังนั้นหากมีอาการที่น่าสงสัย ควรรีบพาสัตว์เลี้ยงของท่านไปพบสัตวแพทย์ทันที

ที่มา : เอกสารแนะนำบริษัท เวท เรคคอมเมนต์ จำกัด
สพ.ญ. สถิตภัค นันทสันติ โรงพยาบาลสัตว์ A Care Hospital


เมื่อน้องหมาป่วยเป็นโรคตับอ่อนอักเสบต้องดูแลอย่างไร

    c612ac7fa4d4c9b89dc8ec1bdef669b9.jpg


โรคตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) เป็นการอักเสบในส่วนของตับอ่อน อวัยวะเล็ก ๆ ที่ทำหน้าที่ในการสร้างน้ำย่อยและฮอร์โมนให้กับร่างกายของน้องหมา เมื่อสัปดาห์ที่แล้วเราได้ทราบกันไปแล้วว่า อะไรเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้น้องหมาของเราป่วยเป็นโรคนี้ได้บ้าง ทั้งเรื่องของพันธุ์ น้ำหนักตัว อาหารที่กิน รวมถึงโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ที่ส่งผลทำให้น้องหมาของเราป่วยเป็นโรคตับอ่อนอักเสบได้

สัปดาห์นี้มาดูกันต่อในส่วนของการรักษา ร่วมถึงการดูแลและการจัดการทางโภชนาการ เพื่อรับมือและป้องกันโรคตับอ่อนอักเสบในน้องหมากันครับ
การรักษาโรคขึ้นกับระดับความรุนแรง

น้องหมาที่ป่วยเป็นโรคตับอ่อนอักเสบจะมีอาการหลากหลายและไม่จำเพาะ เช่น ซึม เบื่ออาหาร อาเจียน ปวดช่องท้องส่วนหน้าอย่างรุนแรง ท้องเสีย อ่อนแรง และมีภาวะขาดน้ำ ฯลฯ ซึ่งสามารถแบ่งระดับอาการออกตามความรุนแรงอย่างง่ายได้ 3 ระดับ คือ รุนแรงน้อย รุนแรงปานกลาง และรุนแรงมาก สำหรับรายที่แสดงอาการรุนแรงน้อย พยากรณ์โรค (prognosis) จะดี เนื่องจากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใด ๆ คุณหมอจะให้สารน้ำใต้ผิวหนังและฉีดยาให้ จากนั้นอาจพิจารณารักษาแบบไป-กลับ (สัตว์ป่วยนอก) โดยให้เจ้าของดูแลน้องหมาได้ด้วยตัวเองที่บ้าน แต่ต้องพาน้องหมามาพบคุณหมอที่นัดไว้

    502215b0a1b3e013ebad8106470fcb93.jpg

ส่วนในรายที่แสดงอาการป่วยระดับรุนแรงปานกลางถึงรุนแรงมาก แบบนี้คุณหมออาจพิจารณารับตัวไว้รักษาที่โรงพยาบาลสัตว์ เพราะสุนัขป่วยกลุ่มนี้จะมีภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมาได้ง่าย บางรายอาจเกิดภาวะขาดน้ำรุนแรง หัวใจเต้นผิดจังหวะ ไตวายเฉียบพลัน เกิดภาวะ disseminated intravascular coagulation (DIC) การทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ภายในร่างกายล้มเหลว และเกิดภาวะช็อก จนอาจทำให้สุนัขเสียชีวิตได้ ซึ่งพยากรณ์โรคของสุนัขที่ป่วยระดับนี้ จะอยู่ในระดับปานกลาง (Fair) ถึงแย่มาก (Grave) จำเป็นที่จะต้องได้รับการรักษาและการดูแลอย่างใกล้ชิดจากสัตวแพทย์ ซึ่งวิธีการรักษาส่วนใหญ่จะมุ่งเน้นที่การรักษาแบบประคองอาการครับ
การดูแลน้องหมาป่วยเป็นโรคตับอ่อนอักเสบที่บ้าน

ในรายที่เจ้าของสามารถพาน้องหมากลับมาดูแลเองได้ เจ้าของจะต้องป้อนยาที่คุณหมอจ่ายมาให้น้องหมาอย่างเคร่งครัด โดยยาที่มี ก็ได้แก่ ยาระงับอาเจียน ยาลดกรด ยาแก้ปวด ยาฆ่าเชื้อ (บางราย) แต่ที่สำคัญที่สุดเลย ก็คือ เจ้าของจะต้องงดให้อาหารสุนัขทุกชนิด (NPO) เป็นเวลา 24-48 ชั่วโมงหรือมากกว่า เพื่อให้ตับอ่อนได้พักผ่อนและลดการทำงานลง เพราะหากเราให้อาหารในช่วงนี้ จะยิ่งเป็นการไปกระตุ้นให้ตับอ่อนหลั่งเอนไซม์ออกมาย่อยทำลายตัวเอง (autodigestion) มากขึ้น ให้รอจนกว่าการอาเจียนจะทุเลาลง
    จากนั้นค่อย ๆ ทยอยป้อนอาหารอ่อนหรืออาหารเหลวรักษาโรค โดยเริ่มจากการป้อนน้ำก่อน แล้วตามด้วยอาหารทีละน้อย ๆ อาจแบ่งให้ 4-6 มื้อย่อย ๆ ต่อวัน เพื่อให้ตับอ่อนของน้องหมาที่กำลังป่วยอยู่ค่อย ๆ ปรับสภาพ แล้วสังเกตอาการ ถ้ามีอาเจียนอยู่อีก ก็ให้งดอาหารต่อไปก่อน 12-24 ชั่วโมง จากนั้นจึงค่อยกลับมาเริ่มต้นให้อาหารใหม่ ซึ่งในรายที่เป็นแบบรุนแรงน้อย การฟื้นตัวจะใช้เวลา 7-10 วัน ช่วงนี้ควรให้อาหารที่มีไขมันต่ำ (น้อยกว่า 10 % dry matter fat) มีคาร์โบไฮเดรตสูง และโปรตีนปานกลาง จนเมื่อกลับมาฟื้นตัวดีแล้ว จึงค่อยให้สุนัขกินอาหารตามปริมาณพลังงานปกติที่ร่างกายต้องการต่อวันในสัดส่วนที่ปกติต่อไป แต่ในรายที่เป็นตับอ่อนอักเสบแบบเรื้อรังจะต้องจำกัดการกินไขมันไปตลอดเลยครับ
  
การจัดการทางโภชนาการ

สำหรับอาหารที่เจ้าของที่ต้องจัดให้น้องหมาป่วยนั้น ปัจจุบันค่อนข้างสะดวก เนื่องจากมีอาหารสำเร็จรูปเฉพาะโรค เช่น อาหารสูตร Gastro-Intestinal Low Fat ซึ่งมีไขมันต่ำ (6-7%) มีทั้งรูปแบบอาหารเม็ดและอาหารกระป๋องให้เลือก แต่บ้านไหนที่ทำอาหารให้น้องหมากินเอง อาจจะจัดการในเรื่องปริมาณสารอาหารยากสักหน่อย แต่วันนี้ มุมหมอหมา มีสูตรอาหารง่าย ๆ มาแนะนำ โดยให้เลือกใช้เนื้อสัตว์ไขมันต่ำ เช่น เนื้ออกไก่ต้มสุก ฉีกเป็นชิ้นฝอยเล็ก ๆ กับข้าวขาวที่ต้มให้เละเป็นโจ๊กเพื่อให้ย่อยง่าย (ข้าว 1 ส่วน ต้มกับน้ำ 4 ส่วน) หรืออาจใช้เป็นมันฝรั่งต้มแทนก็ได้ครับ โดยช่วงแรกให้อาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตสูง โดยให้ผสมข้าว 2 ใน 3 ส่วน กับเนื้อสัตว์ไขมันต่ำ 1 ใน 3 ส่วน ให้สุนัขกิน
โดยค่อย ๆ ทยอยป้อนเช่นกัน กินมื้อละน้อย ๆ โดยแบ่งกินวันละ 4-6 มื้อต่อวัน เพื่อไม่ให้ตับอ่อนทำงานหนักเกินไป พร้อมกับสังเกตอาการน้องหมาอย่างใกล้ชิด หากให้อาหารแล้วน้องหมาสามารถกินได้และไม่แสดงอาการอาเจียนออกมาให้เห็น ให้พิจารณาเพิ่มอาหารประเภทโปรตีน โดยปรับการผสมข้าวกับเนื้อสัตว์เป็น 1 ต่อ 1 ส่วน อย่างไรก็ดีอาหารปรุงที่เองนี้อาจทำให้สุนัขได้รับสารอาหารไม่ครบถ้วน จึงไม่แนะนำให้สุนัขกินในระยะยาวครับ


วิธีป้องกันโรคตับอ่อนอักเสบในสุนัข

สุนัขที่ป่วยเป็นโรคตับอ่อนอักเสบแบบเฉียบพลัน แม้จะรักษาหายแล้ว ยังมีโอกาสกลับมาเป็นโรคได้อีก บางรายเป็น ๆ หาย ๆ กลายเป็นโรคตับอ่อนอักเสบแบบเรื้อรังก็มี ส่งผลให้เกิดความผิดปกติเกี่ยวกับระบบการสร้างน้ำย่อย ก่อให้เกิดโรค Exocrine Pancreatic Insufficiency (EPI) หรือเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับการสร้างฮอร์โมน ก่อให้เกิดโรคเบาหวานตามมาได้

ดังนั้นเพื่อเป็นการป้องกันในระยะยาว เจ้าของควรให้สุนัขที่อ้วนลดน้ำหนัก จำกัดปริมาณพลังงานในอาหารที่กินเข้าไป หมั่นชวนสุนัขออกกำลังกายเป็นประจำ ที่สำคัญคือ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีไขมันสูง (ไขมันไม่ควรเกิน 12-15 % dry matter fat) เช่น อาหารจำพวกของทอดต่าง ๆ และอาหารที่ผัดด้วยน้ำมัน อย่างไรก็ดีสุนัขที่กินอาหารไขมันต่ำเป็นเวลานาน ๆ ก็อาจทำให้ขาดวิตามินสำคัญบางอย่างไรได้ เช่น วิตามินเอ วิตามินดี ฯลฯ เราสามารถช่วยชดเชยได้ด้วยการเสริมน้ำมันตับปลา (Cod Liver Oil) ให้กับสุนัขตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ ส่วนสุนัขพันธุ์เสี่ยงหรือสุนัขที่มีระดับไขมันในกระแสเลือดสูง (hyperlipidemia) โดยเฉพาะในส่วนของไตรกลีเซอไรด์ (Triglycerides) การเสริมน้ำมันปลา (Fish oil) ตามคำแนะนำของสัตวแพทย์ จะสามารถช่วยลดไขมันในเลือดได้ครับ
       โรคตับอ่อนอักเสบในสุนัข สามารถเกิดขึ้นได้กับสุนัขทุกตัว โดยสาเหตุที่พบก็มาจากการที่เจ้าให้สุนัขกินอาหารที่ไขมันสูงเป็นประจำ มีระดับไขมันในกระแสเลือดสูง หรือมีน้ำหนักตัวเกินมาตรฐาน สุนัขที่ป่วยจะแสดงอาการไม่จำเพาะ แต่สามารถตรวจทราบได้จากชุดตรวจโรคตับอ่อนอักเสบ (cPLI) เมื่อเป็นแล้วการรักษาขึ้นกับระดับความรุนแรง แต่ในช่วงแรกจะเป็นต้องให้สุนัขงดอาหารทุกชนิดอย่างน้อย 24-48 ชั่วโมงหรือมากกว่า สุนัขที่ไม่มีภาวะแทรกซ้อนจะกลับมาฟื้นตัวได้ภายในเวลาไม่นาน แต่จะดีกว่า...ถ้าเราทุกคนรู้จักป้องกัน ลองนำวิธีการดูแลเหล่านี้ไปปรับใช้กันดูนะครับ

บทความโดย: หมอต้น ด็อกไอไลค์
น.สพ.ธีรภาพ มุสิกานนท์
บทความจากเว็บ http://www.dogilike.com/
loading...
ขออภัย! คุณไม่ได้รับสิทธิ์ในการดำเนินการในส่วนนี้ กรุณาเลือกอย่างใดอย่างหนึ่ง เข้าสู่ระบบ | สมัครสมาชิก

รายละเอียดเครดิต


โทรศัพท์มือถือ|รายชื่อผู้ถูกระงับบัญชี|dogthailand.net

แนะนำที่พัก โรงแรม รีสอร์ท สัตว์เลี้ยงเข้าพักได้ ทั่วประเทศ

GMT+7, 2024-7-27 17:15 , Processed in 0.083397 second(s), 21 queries .

Powered by Discuz! X3.5, Rev.8

© 2001-2024 Discuz! Team.

ตอบกระทู้ ขึ้นไปด้านบน ไปที่หน้ารายการกระทู้